เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค เผยว่า จากรายงานเฝ้าระวังพิเศษโรคของโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ ในช่วงอุทกภัยและต้นฤดูหนาวบางพื้นที่ ตั้งแต่วันที่ 5-19 ตุลาคม 2554 จำนวน 33 จังหวัด 232 อำเภอ พบอัตราป่วยของประชาชนอันดับสี่ คือ โรคไข้หวัดใหญ่ ( อัตราป่วย 1.18 ต่อประชากรแสนคน )
โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย โดยเชื้อจะฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศ เมื่อสูดลมหายใจเอาเชื้อเข้าไป เชื้อโรคจะไปเจริญอยู่ในลำคอและเยื่อบุทางเดินหายใจของผู้ป่วย ส่งผลให้ผู้ป่วยจะมีอาการตัวร้อน มีไข้สูง 38-40 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 3-4 วัน ปวดศีรษะมาก หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว น้ำมูลไหล คัดจมูก ไอ จาม เจ็บคอ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นภายใน 5 - 7 วัน ผู้ที่กำลังป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่ ไม่ควรออกกำลังกายหรือทำงานหนัก เนื่องจากอาจทำให้อาการทรุดลงจากการติดเชื้อลุกลามไปที่ปอดได้
การติดต่อของโรคไข้หวัดใหญ่สามารถติดต่อได้ง่าย โดยการหายใจเอาเชื้อโรคที่ฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศเข้าไป การสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการไอ จาม ละอองน้ำมูก เสมหะ และหายใจรดกัน การใช้สิ่งของต่างๆ ร่วมกับผู้ป่วย การนำมือที่สัมผัสเชื้อจากผู้ป่วยและสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ มาขยี้ตา จับต้องจมูก ปาก ประกอบกับการที่มีสภาวะอากาศอับชื้นและหนาวเย็น ทำให้ร่างกายมีภูมิต้านทานโรคต่ำลง จึงมีโอกาสติดโรคไข้หวัดใหญ่ได้ง่าย
การป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ทำได้โดย การล้างมือบ่อย ๆ จนเป็นนิสัย ก่อนกินอาหาร ก่อนและหลังเตรียมหรือปรุงอาการ หลังการขับถ่าย หลังหยิบจับสิ่งสกปรก หลังสัมผัสผู้ป่วยหรือสัมผัสสัตว์เลี้ยง และทุกครั้งที่กลับจากนอกบ้าน หลีกเลี่ยงการใช้มือที่ไม่ได้ล้างสัมผัสบริเวณใบหน้าโดยเฉพาะตา จมูก ปาก หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยและอยู่ในสถานที่มีคนอยู่แออัด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก และการฉีดวัคซีนป้องกันตามคำแนะนำของของกระทรวงสาธารณสุข
เภสัชกรเชิดเกียรติ กล่าวแนะนำประชาชนในการปฏิบัติตัวให้ปลอดภัยจากโรคไข้หวัดใหญ่ ดังนี้
1.ใช้ผ้าสะอาดปิดปาก ปิดจมูก เวลาไอ จาม และสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค และใช้ผ้าสะอาดหรือทิชชูนุ่ม ๆ เช็ดน้ำมูก ไม่ควรสั่งน้ำมูกแรงๆ จะทำให้เกิดอักเสบในหูได้
2.เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นแทนการอาบน้ำ แล้วเช็ดตัวให้แห้งทันที ไม่ควรอาบน้ำเย็น จะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนเป็นปอดบวมได้
3.กินอาหารอ่อนที่ย่อยง่าย มีประโยชน์ต่อร่างกาย และดื่มน้ำสะอาด เช่น น้ำต้มสุกอุ่น ๆ บ่อย ๆ ใส่เสื้อให้ร่างกายอบอุ่นอยู่เสมอ และนอนพักผ่อนให้เพียงพอ
4.ล้างมือให้เป็นนิสัย
5.หากมีไข้สูงนานเกิน 7 วัน เจ็บหน้าอก หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ รวมทั้งผู้ป่วยที่มีไข้สูงและมีประวัติการสัมผัสสัตว์ปีก ควรรีบไปพบแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และแจ้งให้ทราบเกี่ยวกับข้อมูลการสัมผัสสัตว์ปีก เพราะอาจได้รับเชื้อไข้หวัดนกได้
แต่หากมีอาการป่วยรุนแรง เช่น มีไข้สูงและไม่ลดลงภายใน 2 วัน มีอาการไอมาก เจ็บหน้าอก หายใจถี่ หอบ เหนื่อย ซึม ในเด็กเล็กอาจทำให้เด็กร้องไห้งอแงมาก กินอาหารไม่ได้หรือกินได้น้อยมาก อาเจียน ท้องเสีย ขอให้รีบพาไปสถานบริการสาธารณสุขใกล้เคียงทันที หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อได้ที่ศูนย์บริการสายด่วน กระทรวงสาธารณสุข โทรศัพท์ 1422 และศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค โทรศัพท์ 0 2590 3333 ตลอด 24 ชั่วโมง
เพิ่มเติม
ที่มา
http://health.kapook.com/view32983.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น