วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

การพัฒนาครูมีความสำคัญอย่างไร และเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทอย่างไร


การพัฒนาครูมีความสำคัญอย่างไร และเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทอย่างไร  


ภาพจาก http://203.172.213.74/moodle
การพัฒนาครู         องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาต่างตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการพัฒนาครูให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐานสมกับเป็นวิชาชีพชั้นสูง แต่ในทางปฏิบัติการพัฒนาครูยังคงมีปัญหาอยู่มาก เนื่องจากระบบการฝึกอบรมส่วนใหญ่เน้นการบรรยายให้ครูเป็นผู้รับฟัง ครูขาดโอกาสที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และขาดโอกาสที่จะนำศักยภาพในตัวเองออกมาใช้ ยิ่งอบรมมากก็ยิ่งเกิดความสับสนในสิ่งที่รับฟัง เพราะขาดการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งที่รับฟังมาใหม่กับประสบการณ์เดิมที่ตนเองมีอยู่ ทำให้ขาดความมั่นใจในการนำความรู้ภาคทฤษฎีไปสู่การปฏิบัติ นอกจากนั้นเมื่อสิ้นสุดการฝึกอบรมภาคทฤษฎีแล้ว การฝึกอบรมก็สิ้นสุดลงเพียงเท่านั้น ขาดระบบการนิเทศ การติดตามผลการนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากการอบรมไปใช้ในการจัดการเรียนการสอน จึงไม่เกิดผลต่อการพัฒนาผู้เรียนเท่าที่ควร  อุปสรรคที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การฝึกอบรมพัฒนาครูที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ครูส่วนใหญ่ยังต้องใช้งบประมาณส่วนตัวค่อนข้างมาก ทั้งค่าลงทะเบียนการฝึกอบรม ค่าที่พัก และค่าเดินทางไปยังสถานที่ฝึกอบรม ซึ่งอยู่ห่างไกลจากโรงเรียนที่ครูปฏิบัติงาน ทำให้เกิดปัญหาด้านการเงิน และผลกระทบในเชิงลบต่อการเรียนการสอน นอกจากนี้ยังไม่สามารถพัฒนาครูทั้งระบบให้ได้มาตรฐานสมกับการเป็นวิชาชีพชั้นสูงในระยะเวลาอันเหมาะสม ทั้งนี้เพราะกระบวนการฝึกอบรมพัฒนาที่ขาดประสิทธิภาพ ข้อจำกัดด้านวิทยากรที่มีความรู้ความสามารถในการถ่ายทอดความรู้ และข้อจำกัดส่วนตัวของผู้เข้ารับการฝึกอบรม
ความสำคัญของการพัฒนาครู
        เป้าหมายของการศึกษา นอกจากสร้างและพัฒนาคนให้เป็นทรัพยากรที่มีศักยภาพสูงแล้ว ยังมุ่งสร้างและพัฒนาให้ชุมชนหรือท้องถิ่นเกิดความเข้มแข็งมั่นคง พึ่งตนเองได้ แต่จากสภาพวิกฤตการณ์ทางสังคมไทยในปัจจุบันก่อให้เกิดปัญหาในเรื่องความยากจน สิ่งแวดล้อม จิตวิญญาณของการหลงวัตถุนิยม ขาดแคลนคุณธรรม และปัญหาเรื่องคุณภาพของคนเป็นอันมาก นอกจากนั้นยังเกิดวิกฤตการณ์ของเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้ว คือ เศรษฐกิจที่ถดถอย การเมืองที่ไม่มั่นคงและต่อเนื่อง การบริหารจัดการที่รวมศูนย์อำนาจและเครื่องมือที่สำคัญคือ การศึกษาที่ขาดคุณภาพและความเสมอภาค ส่งผลให้การพัฒนาคนไม่เป็นไปตามเป้าหมายและผลที่คาดหวัง ทำให้บุคคลไม่เรียนรู้และไม่เท่าทันโลก คนได้รับความรู้ที่ไม่สมบูรณ์ ไม่อยู่บนฐานของความเป็นจริงและเป็นความรู้แบบแยกส่วน ด้วยเหตุดังกล่าวทำให้ชุมชนและท้องถิ่นไม่ได้รับการพัฒนา ขาดความเข้มแข็ง มั่นคง พึ่งตนเองไม่ได้ และกลายเป็นภาระสังคมและประเทศชาติ  จากสภาพปัญหาดังกล่าว การปฏิรูปการศึกษาจึงเป็นทิศทางที่สำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการให้สำเร็จโดยเร็ว และพบว่าหัวใจสำคัญของการปฏิรูปการศึกษา คือ การพัฒนาครู โดยเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าครูคือปัจจัยชี้ขาดในการปฏิรูปการศึกษา และการพัฒนาทั้งปวง นั่นคือต้องเน้นการพัฒนาครูทุกด้านก่อนการปฏิรูปหรือการพัฒนาสิ่งอื่น ๆ โดยเชื่อว่า เมื่อได้ครูเก่ง ครูดี มีศักยภาพสูง จะทำให้เกิดคุณภาพทางการศึกษา และมีระบบการศึกษาที่เข้มแข็งได้มาตรฐาน สามารถสร้างและพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้มีคุณภาพ ศักยภาพสูง ซึ่งจะก่อให้เกิดความเข้มแข็ง มั่นคงและพึ่งตนเองได้ของชุมชนและท้องถิ่น ดังนั้น การพัฒนาครูอย่างเป็นระบบต่อเนื่องทั้งกระบวนการผลิตครู กระบวนการใช้ครู รวมถึงการบำรุงรักษาพัฒนาครูประจำการให้มีศักยภาพสูงจึงเป็นภารกิจสำคัญของประเทศชาติที่จะต้องกระทำอย่างจริงจัง
        พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542  ได้ให้ความสำคัญของการพัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา โดยได้ระบุไว้ใน  หมวด 1 บททั่วไป ความมุ่งหมายและหลักการ มาตรา 9 (4) ว่า “มีหลักการส่งเสริมมาตรฐานวิชาชีพครู  คณาจารย์  และบุคลากรทางการศึกษา  และการพัฒนาครู  คณาจารย์  และบุคลากรทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง”  ซึ่งสอดคล้องกับ ข้อเสนอยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาของคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษา พ.ศ. 2547 ที่ได้เสนอปัญหาการพัฒนาครูประจำการว่า  ขาดระบบการพัฒนาครูประจำการที่ดี  ครูประจำการยังไม่มีโอกาสได้รับการพัฒนาอย่างเพียงพอ  จึงไม่ทราบแนวโน้มใหม่ทางวิชาการ  การวิจัยเชิงนวัตกรรม  และแนวปฏิบัติทางด้านการเรียนการสอน  ประกอบกับมีหลายหน่วยงานดำเนินการ  ทำให้การพัฒนาไม่เป็นเอกภาพด้านนโยบาย  แผน  และมาตรฐานที่ชัดเจน  การพัฒนาเกิดความซ้ำซ้อนไม่เป็นระบบ  ไม่ต่อเนื่อง  และขาดประสิทธิภาพ  รวมทั้งไม่ตรงกับความต้องการ  ไม่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเรียนการสอนของครูตามแนวปฏิรูปได้  อีกทั้ง  การพัฒนาครูประจำการในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับหลักสูตร  การจัดการเรียนการสอน  การประเมินผล  ที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน  แยกกันในการอบรมทีละส่วน  ไม่เป็นองค์รวม  โดยวิทยากรต่างหน่วยงาน  อีกทั้งรูปแบบการอบรมเน้นการบรรยายทางทฤษฎีมากกว่าการฝึกปฏิบัติ  วิทยากรขาดประสบการณ์ตรงในการนำหลักสูตรไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ  ทำให้การฝึกอบรมครูไม่ได้ผลเท่าที่ควร นอกจากนี้  หลังจากการอบรมไปแล้วไม่มีการติดตามผล  และการนิเทศเพื่อให้คำปรึกษา  แนะนำเมื่อครูมีปัญหา
ปัญหาการพัฒนาครู
        1. ขาดปัจจัยและระบบส่งเสริมสนับสนุนจูงใจ
        2. รูปแบบและวิธีการพัฒนาครูหลายแหล่งยังใช้วิธีเดิม
        3. ขาดระบบการพัฒนาครูประจำการที่ดี
        4. ครูประจำการยังไม่มีโอกาสได้รับการพัฒนาอย่างเพียงพอ
        5. การพัฒนาไม่เป็นเอกภาพด้านนโยบาย  แผน  และมาตรฐานที่ชัดเจน
        6. การพัฒนาเกิดความซ้ำซ้อนไม่เป็นระบบ  ไม่ต่อเนื่อง  และขาดประสิทธิภาพ
        7. การพัฒนาครูประจำการไม่ตรงกับความต้องการ
        8. ไม่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเรียนการสอนของครูตามแนวปฏิรูปได้
        9. ขาดการติดตามผล  และการนิเทศเพื่อให้คำปรึกษา  แนะนำเมื่อครูมีปัญหาภายหลังการพัฒนา
แนวทางการพัฒนาครู
        ยุทธศาสตร์การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา  ของ สถาบันพัฒนาครู  คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2548 ได้เสนอแนวทางการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา  ดังนี้
        1. หลักการ  การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา
            - การพัฒนาต้องก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ตัวผู้เรียน
            - การพัฒนาต้องเกิดจากความต้องการของครูและบุคลากรทางการศึกษา
            - การพัฒนาต้องมุ่งเน้นลักษณะ Site Based Development  หรือ  School Based  Development
            - การพัฒนาต้องมีหลากหลายรูปแบบให้เลือกตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล
            - การพัฒนาต้องสอดคล้องกับภารกิจและหน้าที่ที่ปฏิบัติของครูและบุคลากรทางการศึกษา
            - การพัฒนาต้องดำเนินการในรูปแบบเครือข่ายกระจายทั่วประเทศ
            - การพัฒนาต้องสอดคล้องกับนโยบายและข้อกำหนดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
            - การพัฒนาต้องกระทำอย่างทั่วถึงและครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทั้งในและนอกกระทรวง ศึกษาธิการ  ภายใต้ข้อจำกัดของงบประมาณ
       2. รูปแบบและวิธีการพัฒนา
           - การพัฒนาครู  และบุคลากรทางการศึกษา  มุ่งเน้นให้มีสมรรถนะตามมาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิชาชีพทั้งสมรรถนะหลัก (Core Competency)  สมรรถนะการปฏิบัติงานในหน้าที่ (Functional Competency)  และสมรรถนะเฉพาะกลุ่มสาระ (Specificational Competency)  ตามที่กรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) กำหนด
          - รูปแบบของการพัฒนามุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายที่มีคุณภาพตามที่ สคบศ. กำหนด  ให้กระจายอยู่ทั่วประเทศ  เพื่อความสะดวกในการเข้ารับการพัฒนาของครู  และบุคลากรทางการศึกษา  ทั้งที่เป็นองค์กรเครือข่าย  บุคคลเครือข่าย  และเครือข่ายทางไกล
         - วิธีการพัฒนาต้องมีความหลากหลาย  สอดคล้องกับความต้องการพัฒนาของครูและบุคลากรทางการศึกษา  มุ่งเน้นวิธีการพัฒนาที่โรงเรียน/หน่วยงานเป็นฐาน (School Based Development/Insite Based Development)  เป็นสำคัญ  วิธีการพัฒนาที่สำคัญได้แก่  แบบเพื่อนช่วยเพื่อน(Peer Group)  การวิจัยในชั้นเรียนอย่างง่าย  การเข้ารับการอบรมหรือการเข้าร่วมการสัมมนาทางวิชาการที่หน่วยงานต่างๆ   การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์กับผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขา  การเรียนรู้ผ่านเครือข่ายทางไกล
         นอกจากนี้  ยังได้เสนอ ยุทธศาสตร์การพัฒนาศักยภาพครูประจำการ  ดังนี้
        1. ทบทวนการจัดทำแผนพัฒนาครูให้เป็นแผนบูรณาการอย่างแท้จริง  เป็นแผน  ระยะสั้น  ระยะปานกลาง  ระยะยาว
        2. ส่งเสริมสนับสนุนรูปแบบการพัฒนาครูที่เป็นการบูรณาการการวิจัยปฏิบัติการและการฝึกอบรมเข้าด้วยกัน
        3. เร่งสนับสนุนให้มีการพัฒนาครูประจำการด้วยระบบเครือข่าย  โดยใช้เครือข่ายครูผู้นำ  องค์กรครู  ชมรมครู  และสมาคมครูในเขตพื้นที่การศึกษาดำเนินงานด้วยรูปแบบและวิธีการที่หลากหลาย
        4. เร่งพัฒนาครูประจำการ  โดยมีระบบสนับสนุนเพิ่มเติม  เช่น  ระบบคูปองการฝึกอบรม  ระบบ e-Learning  และ  Distance Learning  รวมถึงการพัฒนาครูในสาขาที่ขาดแคลน
        5. เร่งพัฒนาครูโดยใช้ PDCA คือ Plan  Do  Check  Act  กำกับ  เพื่อให้ครูปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงาน  มีการสื่อสารที่ชัดเจนระหว่างผู้บริหารและผู้ปฏิบัติระดับต่าง ๆ และมีระบบการประเมินอย่างต่อเนื่อง  รวมทั้งมาตรการที่เด็ดขาดที่ทำให้บุคคลที่อยู่ในข่ายต้องปรับปรุงต้องพัฒนาตนเองให้ได้
การสร้างความเชื่อมโยงระหว่างครูและเทคโนโลยี
        1. การใช้เทคโนโลยีที่ดี  ครูต้องมีวิสัยทัศน์  ด้านความสามารถในการใช้และเลือกใช้ให้ตรงตามโอกาส  และสถานที่
        2. การฝึกอบรม  เวลาในการสนับสนุน (Just-in-time Support)  และเวลาในการฝึกประสบการณ์ ดังนั้นครูต้องมีแรงดลใจและความกล้าที่จะใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ
        3. การใช้เทคโนโลยีช่วยเปลี่ยนแปลงการสอนของครู
        4. การใช้ในลักษณะที่ครูเป็นศูนย์กลาง (Teacher-centered) ครูต้องมีการฝึกฝนและปฏิบัติเพื่อให้มีความชำนาญในทักษะพื้นฐานหรือผนวกในการควบคุมกิจกรรมด้วยตนเอง
        5. การใช้เทคโนโลยีสนับสนุนการสอนที่ผู้เรียนเป็นสำคัญ (Student-centered)  ต้องช่วยให้ผู้เรียนได้สืบค้น  เกิดกิจกรรมที่มีความร่วมมือกัน  โดยครูมีบทบาทเป็นผู้อำนวยความสะดวกหรือผู้แนะนำ  โดยครูต้องมีความกระตือรือร้นในการใช้เทคโนโลยี  เพราะเทคโนโลยีสามารถนำมาใช้สนับสนุนการสอนได้หลายแบบ
        6. การเพิ่มขึ้นของเทคโนโลยีสารสนเทศ  จะช่วยในการสร้างความสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างเพื่อร่วมงาน  ผู้บริหาร  ผู้ปกครองและผู้เชี่ยวชาญในชุมชน
        7. การช่วยให้ครูใช้เทคโนโลยีอย่างได้ผลจะต้องให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นใจที่จะยอมรับและนำไปใช้ให้เกิดผลจริง ในอนาคต
        8. ขาดการลงทุนที่เพียงพอในการฝึกอบรมครูให้สามารถใช้เทคโนโลยีให้ประสบความสำเร็จในการสอน  เพราะส่วนใหญ่จะใช้งบประมาณจำนวนมากในการเพิ่มฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์
อุปสรรคของการพัฒนาการใช้เทคโนโลยีของครู         1. เวลาของครู (Teacher Time)  ครูต้องการเวลาสำหรับ
            - เพื่อการทดลองกับเทคโนโลยีใหม่
            - แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับครูอื่น ๆ
            - การวางแผนและปรับปรุงแผนการสอนเพื่อใช้วิธีการใหม่ที่รวมการใช้เทคโนโลยี
            - การเข้ารับการฝึกอบรมและฝึกปฏิบัติ
        2. การเข้าถึงและค่าใช้จ่าย (Access and Costs)  ครูมีข้อจำกัดทางด้านวัสดุ อุปกรณ์ และการเข้าถึง  เนื่องจาก
            - ค่าใช้จ่ายที่สูงมากในการจัดซื้ออุปกรณ์  การเชื่อมต่อเครือข่าย  และการฝึกอบรมเพื่อใช้เทคโนโลยี
            - แหล่งเทคโนโลยีอยู่ไกลจากห้องเรียน
            - อุปกรณ์ล้าสมัยและไม่สามารถรองรับการใช้งานโปรแกรมใหม่ ๆ
            - บริการใหม่หรือเพิ่มเติมมีการบริการผ่านระบบโทรศัพท์และเครื่องข่ายอินเทอร์เน็ต
        3. วิสัยทัศน์หรือเหตุผลในการใช้เทคโนโลยี (Vision or Rationale for Technology Use)
            - โรงเรียนจะต้องมีการวางแผนทางเทคโนโลยี  และสร้างความเข้าใจที่ชัดเจนในการใช้เทคโนโลยีในหลักสูตรของโรงเรียน
           - เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วจึงเป็นสิ่งที่ยากในการติดตามข้อมูล  เพื่อให้สามารถใช้เทคโนโลยีได้ดี
           - ครูขาดรูปแบบที่แสดงให้เห็นถึงระดับความสามารถทางด้านเทคโนโลยีของตนเอง
        4. การฝึกอบรมและสนับสนุน (Training and Support)
            - การลงทุนทางด้านการฝึกอบรมเพื่อการใช้เทคโนโลยีมีน้อยมากเมื่อเทียบกับการลงทุนทางด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์
            - การฝึกอบรมทางเทคโนโลยีมุ่งที่การใช้งาน  ขาดการบูรณาการเทคโนโลยีในการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตร
            - หน่วยงานสนับสนุนและช่วยเหลือครูทางด้านเทคนิคที่ประจำในโรงเรียนมีน้อยมาก
        5. การประเมินการปฏิบัติงาน (Current Assessment Practices)
           - การประเมินผลของผู้เรียนไม่สะท้อนถึงการเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยี
           - ครูต้องการเห็นผลการเปลี่ยนแปลงโดยทันที
แนวทางการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มศักยภาพของครู         1. เปลี่ยนการสอนและการเรียน
           - เป็นแหล่งในการสร้างความคิดรวบยอด  วางระบบ  สำรวจปัญหาและทักษะพื้นฐาน
           - เป็นแหล่งที่ช่วยให้เกิดการทำงานเป็นกลุ่มและการสร้างความร่วมมือในการสืบค้น
           - นำไปสู่การเรียนรู้ในรูปแบบที่หลากหลายของนักเรียนและความต้องการพิเศษต่าง ๆ
           - หน้าที่ของครู  สร้างความคาดหมายต่อผู้เรียน  อำนวยความสะดวกในการทำงานของผู้เรียนรายบุคคล  เสนอองค์ประกอบของสื่อ ปรับการสอนตามความต้องการเป็นรายบุคคล  เปลี่ยนบทบาทใหม่ (แนะแนวทางมากกว่าการบอก)  ลดการบรรยายเพิ่มกิจกรรมที่ผู้เรียนเป็นสำคัญในชั้นเรียน
        2. ช่วยงานประจำวันของครู
            - การเตรียมแผนการสอน
            - การปฏิบัติงานระเบียนนักเรียน
            - การติดต่อสื่อสารกับผู้ปกครอง  ผู้บริหาร  และนักเรียน
        3.  การพัฒนาสมรรถนะครู
            - การใช้ในการฝึกอบรมและสนับสนุน  เช่น การใช้ระบบดาวเทียม วีดิทัศน์ เคเบิล คอมพิวเตอร์ ครูต้นแบบ  เป็นต้น
            - พัฒนาหลักสูตรทั่วไปและระดับสูง  เช่น การใช้ระบบการศึกษาทางไกลผ่านเทคโนโลยี
            - พัฒนาระบบการศึกษาอื่น ๆ ที่เหมาะสม  เช่น  การติดต่อกับครูหรือผู้เชี่ยวชาญโดยการออนไลน์ 
สรุป        การนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ในการฝึกอบรม อาจเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ช่วยให้เกิดการก้าวกระโดดในการพัฒนาครูได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากเทคโนโลยีสารสนเทศสามารถเอาชนะข้อจำกัดในด้านเวลา สถานที่ และข้อจำกัดของวิทยากรที่ให้การฝึกอบรมได้เป็นอย่างดี ประกอบกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการฝึกอบรมจะช่วยให้เกิดความยืดหยุ่น ความหลากหลาย และความเป็นปกติเป็นธรรมชาติในการพัฒนาตนเองสำหรับครู ช่วยให้ครูเกิดทักษะการแสวงหาความรู้และการพัฒนาตนเอง ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป


อ้างอิง
http://www.sahavicha.com/?name=article&file=readarticle&id=94

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น